วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

รายงานกลุ่มที่ 3 ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้

ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้ (Knowledge management strategy) 

ยุทธศาสตร์ 6 กลุ่ม ของ APQC
          APQC ย่อมาจาก American Productivity and Quality Center ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการจัดการความรู้ไว้ 6 ประการคือ
          1. ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้ ทั่วทั้งองค์กร
          2. ยุทธศาสตร์ถ่ายทอดความรู้และวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด (best practice)
          3. ยุทธศาสตร์ความรู้เกี่ยวกับลูกค้า
          4. ยุทธศาสตร์ปัจเจกบุคคล
          5. ยุทธศาสตร์จัดการสินทรัพย์ทางปัญญา (intellectual asset)
          6. ยุทธศาสตร์สร้างความรู้และนวัตกรรม

ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้ทั่วทั้งองค์กร
          เป็นยุทธศาสตร์ขององค์กรที่มีพื้นฐานด้านความรู้ดีมาก มีความเชื่อมั่นว่าการจัดการความรู้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายต่อความเจริญในระยะยาว และต่อความสามารถในการแข่งขันขององค์กร และมีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้นำอย่างเป็นทางการในด้านการจัดการความรู้ มีการดำเนินการจัดการความรู้ อย่างครบถ้วนและเป็นระบบทั่วทั้งองค์กร และมักจะมีความเชื่อว่าความรู้เป็น “ผลิตภัณฑ์” อย่างหนึ่งขององค์กร

ยุทธศาสตร์ถ่ายทอดความรู้และวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด
          มักใช้เป็นยุทธศาสตร์เสริม เพื่อพัฒนาการดำเนินการและพัฒนาความรู้ที่ฝังอยู่ในผลิตภัณฑ์หรือบริการองค์กรที่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้จะเน้นการทำงานเป็นทีม เน้นความสัมพันธ์และการทำงานเป็นเครือข่ายสำหรับเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความรู้ องค์กรมักมีวิธีการที่หลากหลายในการส่งเสริมความร่วมมือกันในการถ่ายทอดความรู้ ตัวอย่างเช่น ศูนย์วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด (best practice centers) ชุมชนแห่งการปฏิบัติ (community of practice) รวมทั้งมักจัดระบบสำหรับปรับโครงสร้างคลังข้อมูล และระบบการกระจายความรู้

ยุทธศาสตร์ความรู้เกี่ยวกับลูกค้า
          หลักการสำคัญคือ การจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า โดยการรวบรวม จัดระบบ และถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับลูกค้า ในด้านพฤติกรรมและแรงจูงใจของลูกค้า ความแตกต่างระหว่างยุทธศาสตร์นี้ กับกิจกรรมลูกค้าสัมพันธ์โดยทั่วไป อยู่ที่การเน้นความรู้ที่ได้มาจากการสอบถามลูกค้าเป็นสำคัญ

ยุทธศาสตร์ปัจเจกบุคคล
          ยุทธศาสตร์นี้เน้นความเชื่อว่า ความรู้เป็นทรัพย์ส่วนบุคคลที่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป็นเจ้าของ จึงต้องมีมาตรการสนับสนุนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลให้ค้นหา คงไว้ และขยายความรู้ โดยมีเป้าหมายให้ทุกคนในองค์กรปรับความรู้ของตนให้ทันสมัยอยู่เสมอ รวมทั้งแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ความรู้ เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างสามารถ ยุทธศาสตร์นี้เน้นว่าการจัดการความรู้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ระบบอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบแรงจูงใจจึงต้องส่งเสริมการจัดการความรู้ระดับบุคคล และการถ่ายทอดความรู้ระหว่างบุคคล ให้การตอบแทนแก่การสอนงาน (coaching) การเป็นพี่เลี้ยง(mentoring) และการพัฒนาตนเองเป้าหมายหลักของยุทธศาสตร์นี้ คือ การสร้างวัฒนธรรมความรู้เข้มข้น

ยุทธศาสตร์จัดการสินทรัพย์ทางปัญญา
          เน้นการจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ในกลุ่มสิทธิบัตร ขั้นตอนการทำงาน ลูกค้าสัมพันธ์ และสินทรัพย์เชิงโครงสร้าง การดำเนินการเน้นการประเมิน การจัดระบบ การตีค่า การรักษาความปลอดภัย การเพิ่มความพร้อมในการส่งมอบ และความพร้อมด้านการตลาดของสินทรัพย์เหล่านี้

ยุทธศาสตร์สร้างความรู้และนวัตกรรม
          เน้นการสร้างความรู้ใหม่ โดยการยกระดับความรู้เดิม เครื่องมือที่ใช้คือ “เกลียวความรู้” การดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้ทำให้เกลียวความรู้หมุนขึ้นยุทธศาสตร์นี้ทำยาก เพราะต้องใช้นวัตกรรมและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นองค์ประกอบสำคัญของการจัดการความรู้ เป็นองค์ประกอบสำคัญแต่ไม่เพียงพอสำหรับกิจกรรมริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งต้องการองค์ประกอบอื่น ๆอีกหลายอย่าง เกี่ยวกับวัฒนธรรมและความสัมพันธ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น